LAND AND HOUSES FUND MANAGEMENT CO.,LTD

ข่าวสารและกิจกรรม

สรุปภาวะตลาด



สรุปภาพรวมการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา 

ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปิดในแดนลบ ยกเว้นในตลาดเอเชียบางแห่งอย่างจีนและญี่ปุ่น โดยดัชนี S&P 500 -2.64%, ดัชนี Nasdaq -0.65%, ดัชนี Stoxx Europe 600 -1.1%, ดัชนี Nifty 50 ของอินเดีย -2.50%, ดัชนี SET ของไทย -4.54%  ทางด้านดัชนี CSI 300 ของจีน +1.30%, ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง +2.61%  และดัชนี Nikkei 225 ของ ญี่ปุ่น +3.59%
สำหรับปี 2024 ที่ผ่านมานั้น ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq 100 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +25.70% และ +28.02% ตามลำดับ โดยได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นผู้ผลิตชิปท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี AI จะสามารถเติบโตได้ในอนาคต ทางด้าน Dow Jones มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าดัชนีอื่น ๆ แต่ยังคงเพิ่มขึ้นที่ +13.99% ในปีนี้ ทางด้านตลาดอื่นๆ ในโลกเพิ่มขึ้นเช่นกันนำโดย ดัชนี Nikkei 225 เพิ่มขึ้น +19.85%  ตามมาด้วย CSI 300 และ HSI ของจีน เพิ่มขึ้น +18.09% และ +19.38% ตามลำดับ ขณะที่ Nifty 50 ของอินเดียเพิ่มขึ้น +8.83% และ STOXX 600 ของยุโรป เพิ่มขึ้น +9.68%


ตลาดตราสารทุน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 มีการลดลง -2.64% ซึ่งแตกต่างจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในเดือนนี้ตามสถิติในอดีตที่ผ่านมา การลดลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง +5.7% ในเดือน พ.ย. ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของตลาดในเดือน ธ.ค. ได้รับผลกระทบจากถ้อยแถลงด้านนโยบายของ Fed ซี่งประกาศว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2025 น้อยกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้ตลาดลดลงในเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีจะมีการปรับตัวลงในเดือน ธ.ค. แต่ในปี 2024 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่แข็งแกร่งของ S&P 500  โดยดัชนีนี้สามารถทำกำไรได้ถึง +25.7% ซึ่งเป็นผลมาจากโมเมนตัมที่ต่อเนื่องจากปี 2023 จึงนับเป็นช่วงเวลาสองปีที่น่าประทับใจที่สุดตั้งแต่ยุคดอตคอม โดยการเพิ่มขึ้นนี้ได้รับแรงผลักดันจากความก้าวหน้าในปัญญาประดิษฐ์ (AI) และผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ

ตลาดหุ้นยุโรป

ในเดือน ธ.ค. ดัชนี STOXX 600 ลดลงเล็กน้อยที่ -1.1% หลักๆ เป็นผลมาจากหุ้น Novo Nordisk ซึ่งร่วงหนักเป็นประวัติการณ์เนื่องจากการทดลองยาลดน้ำหนักไม่เป็นผล อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งปี 2024 ดัชนี STOXX 600 มีการเติบโตที่ +9.67% โดยกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานได้ดีสุดคือ กลุ่มธนาคารที่พุ่ง 25% ตามด้วยกลุ่มโทรคมนาคมที่บวก 15.8% และหุ้นบริการการเงินที่บวกเกือบ 15% ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวแต่ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับดัชนีทั่วโลกอื่น โดยเฉพาะสหรัฐฯ

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ในเดือน ธ.ค. ดัชนี Nikkei 225 แสดงการเติบโตที่โดดเด่นที่ +3.59% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของผลการดำเนินงานในอดีต ซึ่งดีในช่วงเทศกาลวันหยุด ขณะที่ ตลอดทั้งปี 2024 นั้น ดัชนี Nikkei 225 มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ +19.85% โดยซึ่งเป็นปีที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1989 ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและความเชื่อมั่นของนักลงทุนในโอกาสทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยดัชนี Nikkei 225 ได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยหลายประการที่สำคัญ โดยเฉพาะจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทชั้นนำในญี่ปุ่นที่มีการเติบโตในด้านรายได้ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลบวกต่อการส่งออกและการผลิตในญี่ปุ่น นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนยังเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของ Nikkei 225 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มีรายได้จากการส่งออกอีกด้วย


ตลาดหุ้นจีน

ในเดือน ธ.ค. ดัชนี CSI 300 ปิดตัวด้วยการบวกเล็กน้อยที่ +1.30% เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่ชัดเจนในการสนับสนุนการเติบโต สำหรับปี 2024 ดัชนี CSI 300 ปรับตัวขึ้นรวมทั้งหมด +18.09 % ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศในช่วงปลายเดือน ก.ย. ทำให้ดัชนีที่เคยปรับตัวลงจากจุดสูงสุดในปี 2021 กว่า 45% โดยลงมาสู่จุดต่ำสุดในเดือน ก.ย. ปีนี้ กลับดีดตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 35% ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น รัฐบาลไม่ได้ออกมาให้รายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับงบประมาณในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ดัชนีปรับตัวลงเล็กน้อยและเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways เช่นเดียวกับดัชนี HSI ซึ่งปรับตัวในปี 2024 ขึ้นที่ +19.38% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนเดียวกัน

ตลาดหุ้นอินเดีย

ดัชนี Nifty 50 ปรับตัวลงในเดือน ธ.ค. ที่ -2.50% โดยดัชนีไม่ค่อยเคลื่อนไหวนักเนื่องจากนักลงทุนยังคงจับตามองสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและผลประกอบการของบริษัทในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ ในปี 2024 ดัชนี Nifty 50 ปรับตัวขึ้นที่ +8.82% โดยทำสถิติสูงสุดที่ 26,216 จุดในเดือน ก.ย. ก่อนที่จะมีการปรับตัวลดลงสู่ 23,300 จุดในเดือน พ.ย. การปรับตัวลดลงในช่วงหลังนี้เกิดจากความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของกำไรที่ชะลอลงในไตรมาสที่ 3/2024 ซึ่งส่งผลให้มีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ (FPI) อย่างต่อเนื่อง


ตลาดหุ้นไทย

ดัชนี SET ในเดือน ธ.ค. ปรับตัวลดลงที่ -4.54% โดยได้รับแรงกดดันจาก Fund Flow ที่ยังมีทิศทางไหลออกหลัง Fed ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยช้าลง แม้มีปัจจัยบวกจากช่วงครึ่งเดือนหลังซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของการซื้อกองทุนประหยัดภาษีที่มักจะเร่งตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่แรงสนับสนุนดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นตลาดได้ สำหรับในปี 2024 ดัชนี SET ปิดปรับตัวลงที่ -1.1% โดยเป็นการปรับตัวลดลง 2 ปีติดกันครั้งแรก นับจากปี 1997 ซึ่ง underperform ตลาดหุ้นทั่วโลก

ข้อมูลทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์สำคัญในเดือนที่ผ่านมา

เศรษฐกิจสหรัฐฯ
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 2024 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2024 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.1% ในไตรมาสดังกล่าว โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.8% ของตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 หลังจากมีการขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 2/2024 และ1.4% ในไตรมาส 1/2024 โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3/2024 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง และการพุ่งขึ้นของการส่งออก นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ได้ปรับตัวขึ้น 2.2% ในไตรมาส 3/2024 โดยชะลอตัวจากระดับ 2.8% ในไตรมาส 2/2024 ทั้งนี้ Fed ได้มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 25 basis point เมื่อคืนวันที่ 18 ธ.ค. 2024  ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงอยู่ในช่วง 4.25-4.50% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดคือ การปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือเพียง 2 ครั้ง จากเดิมที่เคยคาดไว้ 4 ครั้งใน Dot Plot ล่าสุด

เศรษฐกิจยูโรโซน เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามความคาดหมาย ส่งผลให้ในปีนี้ ECB ได้ลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วรวม 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 1.0% โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 3.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 3.4% นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณที่จะใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องในปีหน้า โดยได้ปรับเปลี่ยนแถลงการณ์ด้วยการตัดถ้อยคำเชิงเข้มงวดออก และเน้นสื่อสารถึงความคืบหน้าในการลดเงินเฟ้อที่เป็นไปในทิศทางที่ดี อีกทั้ง ECB ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนอีกครั้ง โดยคาดว่า GDP ยูโรโซนจะเติบโตเพียง 0.7% ในปี 2024 ก่อนจะเพิ่มเป็น 1.1% ในปี 2025 และ 1.4% ในปี 2026 ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวลดลงจากประมาณการที่เคยรายงานไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภูมิภาคนี้

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งสุดท้ายในปี 2024 ในการประชุมเมื่อ 18-19 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยคำแถลงของ ผู้ว่าการ BOJ ได้หลีกเลี่ยงการสัญญาว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ อีกด้าน รัฐบาลญี่ปุ่น ได้มีการเปิดเผยว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวถึงระดับเต็มศักยภาพในปีงบประมาณหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากตลาดแรงงานตึงตัว โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีคาดการณ์ว่า ช่องว่างผลผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งวัดความแตกต่างระหว่างผลผลิตจริงกับผลผลิตที่พึงเป็นไปได้จะอยู่ที่ +0.4% ในปีงบประมาณที่เริ่มจะในเดือน เม.ย. โดยช่องว่างผลผลิตที่เป็นบวกหมายความว่า ผลผลิตจริงสูงกว่าระดับเต็มศักยภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ข้อมูลนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ BOJ ใช้ในการประเมินว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายตัวแข็งแกร่งเพียงพอที่จะผลักดันให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นตามอุปสงค์หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าญี่ปุ่นมีแผนใช้งบประมาณที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 735 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปีงบประมาณ 2025 โดยได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมและการชำระหนี้

เศรษฐกิจจีน ยอดค้าปลีกในจีนเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ในเดือน พ.ย. สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลปักกิ่งต้องกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ แม้ตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยอดค้าปลีกกลับขยายตัวเพียง 3.0% YoY ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบสามเดือนและต่ำกว่าความคาดหมาย แม้ในกรณีที่มีการประเมินแบบรุนแรงที่สุด ในขณะเดียวกัน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโตที่ระดับ 5.4% ซึ่งช่วยรักษาโมเมนตัมของเศรษฐกิจโดยรวมได้ และแสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า รัฐบาลจีนได้อนุมัติการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 411,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2025 ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1 ล้านล้านหยวนในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมาตรการดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงรับมือกับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนโดยสหรัฐฯ เงินทุนจากการออกพันธบัตรนี้จะถูกนำไปใช้ในการกระตุ้นการบริโภคและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยคิดเป็น 2.4% ของ GDP จีนในปี 2023 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการประคับประคองเศรษฐกิจและเร่งสร้างสมดุลระหว่างภาคการผลิตและการใช้จ่ายภายในประเทศ

เศรษฐกิจอินเดีย ค่าเงินรูปีอินเดียอ่อนค่าลง 2.5% ในปีนี้ โดยปิดที่ 85.5 ต่อ USD ในเดือน ธ.ค. เนื่องจากการไหลออกของเงินทุนอย่างต่อเนื่องและความคาดหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ทางด้านอัตราเงินเฟ้อลดลงตามคาด มาอยู่ที่ 5.5% ในเดือน พ.ย. ซึ่งกลับมาอยู่ในกรอบที่ RBI สามารถยอมรับได้ สัญญาณนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า RBI อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาสแรกของปี 2025 ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวในเศรษฐกิจ โดย GDP ของอินเดียเติบโต 5.4% ในไตรมาสที่ 3 /2024 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งรัฐบาลอินเดีย และ RBI ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปีปัจจุบันลงเหลืออยู่ในช่วง 6.6%-6.5% โดยในระยะข้างหน้า นักลงทุนยังคงจับตามอง งบประมาณสหภาพปี 2025-26 ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะลดภาษีรายได้สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านรูปีต่อปี เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยคาดว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะนำเสนอ งบประมาณสหภาพ ในวันที่ 1 ก.พ. 2025


ข้อมูลทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์สำคัญในเดือนที่ผ่านมา

เศรษฐกิจไทย การผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ตัวเลขล่าสุดในเดือน พ.ย ลดลง 3.51% YoY ซึ่งเป็นการลดลงที่มากกว่าในเดือนก่อนหน้าและแย่กว่าที่ตลาดคาด (ลดลง 0.5%) ถือเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.  ขณะที่ การส่งออกในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 8.2% YoY ซึ่งชะลอลงจากการเติบโตเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาที่ 14.6% YoY  โดยเป็นการเติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้า ซึ่งได้รับแรงหนุนจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, อุตสาหกรรมเกษตร และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำหรับ 11 เดือนแรกของปี 2024 การส่งออกเพิ่มขึ้น 5.14% YoY เหนือกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงที่ -1% YoY 

ขณะที่ ในเดือน ธ.ค. กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% อีกด้านคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการอนุมัติ 3 มาตรการ 1. โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 จะแจกเงินให้กับประชาชนอายุมากกว่า 60 ปี  2. Easy E-Receipt อนุญาตให้ผู้ซื้อสามารถขอคืนภาษีสำหรับการใช้จ่ายระหว่างวันที่ 15 ม.ค. ถึง 28 ก.พ. สูงสุด 50,000 บาท 3. มีการอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยรวมเฉลี่ย 2.9% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2025 โดยบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง จะได้รับค่าแรง 400 บาทต่อวัน


ประเด็นที่น่าติดตามในเดือน ม.ค. 2025

วันที่ ประเทศ ประเด็นที่น่าติดตาม
2 ม.ค. CN ตัวเลข Caixin Manufacturing PMI เดือน ธ.ค.
7 ม.ค. EU ตัวเลข Inflation Rate เดือน ธ.ค. และ Unemployment Rate เดือน พ.ย.
8 ม.ค. JP ตัวเลข Consumer Confidence เดือน ธ.ค.
10 ม.ค. US ตัวเลข Non-Farm Payrolls เดือน ธ.ค. และ Unemployment Rate เดือน ธ.ค.
12 ม.ค. CN ตัวเลข Inflation Rate เดือน ธ.ค.
15 ม.ค. US ตัวเลข Core Inflation Rate เดือน ธ.ค.
16 ม.ค. US ตัวเลข Retail Sales เดือน ธ.ค.
17 ม.ค. CN ตัวเลข GDP Q4/2024,  Industrial Production เดือน ธ.ค. และ Retail Sales เดือน ธ.ค.
20 ม.ค. US การกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรก (Inaugural Address) ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลำดับที่ 47 ของ Donald Trump และการลงนามคำสั่งบริหาร (Executive Orders) ซึ่งจะชี้ ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และแนวทางส าคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคต
24 ม.ค. JP ตัวเลข Inflation Rate เดือน ธ.ค. และการประชุมการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
29 ม.ค. JP ตัวเลข Consumer Confidence เดือน ม.ค.
30 ม.ค US การประชุมธนาคาการกลางสหรัฐฯ (FED)
  EU ตัวเลข GDP Growth Rate, Unemployment Rate และ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)
31 ม.ค. CN ตัวเลข Caixin Manufacturing PMI เดือน ม.ค.

 

มุมมองและกลยุทธ์การลงทุน 

แนวโน้มตลาด

เมื่อปี 2025 ใกล้เข้ามา นักวิเคราะห์ยังคงมีมุมมองบวกกับตลาดสหรัฐฯ โดยบางคาดการณ์ชี้ว่า ดัชนี S&P 500 อาจมีการเติบโตสูงถึง 20% ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและนโยบายใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงเผชิญความกังวลในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าหุ้นที่สูงเกินจริง ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และปัจจัยเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน สิ่งเหล่านี้ทำให้นักลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังและปรับกลยุทธ์การลงทุนให้มีความสมดุล เพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงิน
สำหรับตลาดญี่ปุ่น มองไปข้างหน้า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Nikkei 225 อาจจะยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากการปฏิรูปของบริษัทที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง, การประเมินมูลค่าที่น่าสนใจ, รวมถึงนโยบายการเงินที่ยังคงสนับสนุนการลงทุน
ทางด้านตลาดอินเดีย ในปี 2025 ดัชนี Nifty น่าจะปรับตัวฟื้นขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของผลประกอบการในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดหุ้นอินเดียและปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคงในระยะยาว



กลยุทธ์การลงทุน

พิจารณาใช้กลยุทธ์ "Barbell Strategy" ซึ่งเน้นการกระจายพอร์ตการลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตสูง (Growth) และหุ้นที่เน้นความมั่นคงและปลอดภัย (Defensive) โดยแบ่งสัดส่วน 50% ในหุ้นกลุ่ม Growth เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม และอีก 50% ในหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น Utilities, Consumer Staples และหุ้นกลุ่ม Value การจัดสรรพอร์ตในลักษณะนี้จะช่วยลดความผันผวนและรับมือกับความไม่แน่นอนในตลาดได้ดี ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ความผันผวนในตลาดยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง โดยนักลงทุนควรติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมปรับพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์

 
คำแนะนำการลงทุน
  • เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Growth และ Defensive โดยแนะนำหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และหุ้นกลุ่ม Consumer Staples ที่จะสามารถรักษามูลค่าและเติบโตได้ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน
  • กระจายการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนจากตลาดที่มีศักยภาพเติบโต เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลบวกจากการลดดอกเบี้ย
  • การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น และการซื้อหุ้นคืนในตลาดเพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว
  • ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจและนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นและกลาง
กองทุนแนะนำ
 
  • LHMEGA กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยกองทุนมุ่งเน้นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการ Disruption ในหลากหลาย Sector รวมถึงค้นหาโอกาสที่กระจายอยู่ทั่วทั้ง Value Chain
  • LHDIVB กองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด
  • LHSPACE กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น Space Economy มีโอกาสเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
  • LHUSFIN กองลงทุนในหุ้นกลุ่ม Financial ในสหรัฐอเมริกา ตลาดใหญ่ของกลุ่มการเงินระดับโลก
  • LHGINCOME กองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ รับวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง
  • LHINDIAE กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นอินเดีย เพื่อแสวงหาการเติบโตจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต

Source: LHFUND, Bloomberg, Reuters, Trading Economy, FINANCIAL TIMES, bangkokbiznews

Data as of: 2 Jan 2025

เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือ
ได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือ ได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้

ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน










  

 



 



 





 

กรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ