สรุปภาวะตลาด
สรุปภาพรวมการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา
ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปิดในแดนลบ ยกเว้นในตลาดเอเชียบางแห่งอย่างจีนและญี่ปุ่น โดยดัชนี S&P 500 -2.64%, ดัชนี Nasdaq -0.65%, ดัชนี Stoxx Europe 600 -1.1%, ดัชนี Nifty 50 ของอินเดีย -2.50%, ดัชนี SET ของไทย -4.54% ทางด้านดัชนี CSI 300 ของจีน +1.30%, ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง +2.61% และดัชนี Nikkei 225 ของ ญี่ปุ่น +3.59%
สำหรับปี 2024 ที่ผ่านมานั้น ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq 100 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +25.70% และ +28.02% ตามลำดับ โดยได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นผู้ผลิตชิปท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี AI จะสามารถเติบโตได้ในอนาคต ทางด้าน Dow Jones มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าดัชนีอื่น ๆ แต่ยังคงเพิ่มขึ้นที่ +13.99% ในปีนี้ ทางด้านตลาดอื่นๆ ในโลกเพิ่มขึ้นเช่นกันนำโดย ดัชนี Nikkei 225 เพิ่มขึ้น +19.85% ตามมาด้วย CSI 300 และ HSI ของจีน เพิ่มขึ้น +18.09% และ +19.38% ตามลำดับ ขณะที่ Nifty 50 ของอินเดียเพิ่มขึ้น +8.83% และ STOXX 600 ของยุโรป เพิ่มขึ้น +9.68%
ตลาดตราสารทุน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 มีการลดลง -2.64% ซึ่งแตกต่างจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในเดือนนี้ตามสถิติในอดีตที่ผ่านมา การลดลงนี้เกิดขึ้นหลังจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง +5.7% ในเดือน พ.ย. ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของตลาดในเดือน ธ.ค. ได้รับผลกระทบจากถ้อยแถลงด้านนโยบายของ Fed ซี่งประกาศว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2025 น้อยกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้ตลาดลดลงในเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีจะมีการปรับตัวลงในเดือน ธ.ค. แต่ในปี 2024 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีที่แข็งแกร่งของ S&P 500 โดยดัชนีนี้สามารถทำกำไรได้ถึง +25.7% ซึ่งเป็นผลมาจากโมเมนตัมที่ต่อเนื่องจากปี 2023 จึงนับเป็นช่วงเวลาสองปีที่น่าประทับใจที่สุดตั้งแต่ยุคดอตคอม โดยการเพิ่มขึ้นนี้ได้รับแรงผลักดันจากความก้าวหน้าในปัญญาประดิษฐ์ (AI) และผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นยุโรป
ในเดือน ธ.ค. ดัชนี STOXX 600 ลดลงเล็กน้อยที่ -1.1% หลักๆ เป็นผลมาจากหุ้น Novo Nordisk ซึ่งร่วงหนักเป็นประวัติการณ์เนื่องจากการทดลองยาลดน้ำหนักไม่เป็นผล อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งปี 2024 ดัชนี STOXX 600 มีการเติบโตที่ +9.67% โดยกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานได้ดีสุดคือ กลุ่มธนาคารที่พุ่ง 25% ตามด้วยกลุ่มโทรคมนาคมที่บวก 15.8% และหุ้นบริการการเงินที่บวกเกือบ 15% ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวแต่ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับดัชนีทั่วโลกอื่น โดยเฉพาะสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ในเดือน ธ.ค. ดัชนี Nikkei 225 แสดงการเติบโตที่โดดเด่นที่ +3.59% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของผลการดำเนินงานในอดีต ซึ่งดีในช่วงเทศกาลวันหยุด ขณะที่ ตลอดทั้งปี 2024 นั้น ดัชนี Nikkei 225 มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ +19.85% โดยซึ่งเป็นปีที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1989 ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญและความเชื่อมั่นของนักลงทุนในโอกาสทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยดัชนี Nikkei 225 ได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยหลายประการที่สำคัญ โดยเฉพาะจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทชั้นนำในญี่ปุ่นที่มีการเติบโตในด้านรายได้ อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลบวกต่อการส่งออกและการผลิตในญี่ปุ่น นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนยังเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของ Nikkei 225 ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มีรายได้จากการส่งออกอีกด้วย
ตลาดหุ้นจีน
ในเดือน ธ.ค. ดัชนี CSI 300 ปิดตัวด้วยการบวกเล็กน้อยที่ +1.30% เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่ชัดเจนในการสนับสนุนการเติบโต สำหรับปี 2024 ดัชนี CSI 300 ปรับตัวขึ้นรวมทั้งหมด +18.09 % ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศในช่วงปลายเดือน ก.ย. ทำให้ดัชนีที่เคยปรับตัวลงจากจุดสูงสุดในปี 2021 กว่า 45% โดยลงมาสู่จุดต่ำสุดในเดือน ก.ย. ปีนี้ กลับดีดตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่ 35% ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น รัฐบาลไม่ได้ออกมาให้รายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับงบประมาณในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ดัชนีปรับตัวลงเล็กน้อยและเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways เช่นเดียวกับดัชนี HSI ซึ่งปรับตัวในปี 2024 ขึ้นที่ +19.38% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนเดียวกัน
ตลาดหุ้นอินเดีย
ดัชนี Nifty 50 ปรับตัวลงในเดือน ธ.ค. ที่ -2.50% โดยดัชนีไม่ค่อยเคลื่อนไหวนักเนื่องจากนักลงทุนยังคงจับตามองสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและผลประกอบการของบริษัทในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ ในปี 2024 ดัชนี Nifty 50 ปรับตัวขึ้นที่ +8.82% โดยทำสถิติสูงสุดที่ 26,216 จุดในเดือน ก.ย. ก่อนที่จะมีการปรับตัวลดลงสู่ 23,300 จุดในเดือน พ.ย. การปรับตัวลดลงในช่วงหลังนี้เกิดจากความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของกำไรที่ชะลอลงในไตรมาสที่ 3/2024 ซึ่งส่งผลให้มีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ (FPI) อย่างต่อเนื่อง
ตลาดหุ้นไทย
ดัชนี SET ในเดือน ธ.ค. ปรับตัวลดลงที่ -4.54% โดยได้รับแรงกดดันจาก Fund Flow ที่ยังมีทิศทางไหลออกหลัง Fed ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยช้าลง แม้มีปัจจัยบวกจากช่วงครึ่งเดือนหลังซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของการซื้อกองทุนประหยัดภาษีที่มักจะเร่งตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่แรงสนับสนุนดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นตลาดได้ สำหรับในปี 2024 ดัชนี SET ปิดปรับตัวลงที่ -1.1% โดยเป็นการปรับตัวลดลง 2 ปีติดกันครั้งแรก นับจากปี 1997 ซึ่ง underperform ตลาดหุ้นทั่วโลก
ข้อมูลทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์สำคัญในเดือนที่ผ่านมา
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือน ธ.ค. 2024 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 3 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2024 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.1% ในไตรมาสดังกล่าว โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.8% ของตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 หลังจากมีการขยายตัว 3.0% ในไตรมาส 2/2024 และ1.4% ในไตรมาส 1/2024 โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3/2024 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง และการพุ่งขึ้นของการส่งออก นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ได้ปรับตัวขึ้น 2.2% ในไตรมาส 3/2024 โดยชะลอตัวจากระดับ 2.8% ในไตรมาส 2/2024 ทั้งนี้ Fed ได้มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 25 basis point เมื่อคืนวันที่ 18 ธ.ค. 2024 ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงอยู่ในช่วง 4.25-4.50% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดคือ การปรับลดคาดการณ์การลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือเพียง 2 ครั้ง จากเดิมที่เคยคาดไว้ 4 ครั้งใน Dot Plot ล่าสุด
เศรษฐกิจยูโรโซน เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ตามความคาดหมาย ส่งผลให้ในปีนี้ ECB ได้ลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้วรวม 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 1.0% โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 3.0% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 3.4% นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณที่จะใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องในปีหน้า โดยได้ปรับเปลี่ยนแถลงการณ์ด้วยการตัดถ้อยคำเชิงเข้มงวดออก และเน้นสื่อสารถึงความคืบหน้าในการลดเงินเฟ้อที่เป็นไปในทิศทางที่ดี อีกทั้ง ECB ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนอีกครั้ง โดยคาดว่า GDP ยูโรโซนจะเติบโตเพียง 0.7% ในปี 2024 ก่อนจะเพิ่มเป็น 1.1% ในปี 2025 และ 1.4% ในปี 2026 ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวลดลงจากประมาณการที่เคยรายงานไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภูมิภาคนี้
เศรษฐกิจญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งสุดท้ายในปี 2024 ในการประชุมเมื่อ 18-19 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยคำแถลงของ ผู้ว่าการ BOJ ได้หลีกเลี่ยงการสัญญาว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการติดตามความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ อีกด้าน รัฐบาลญี่ปุ่น ได้มีการเปิดเผยว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวถึงระดับเต็มศักยภาพในปีงบประมาณหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากตลาดแรงงานตึงตัว โดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีคาดการณ์ว่า ช่องว่างผลผลิตของญี่ปุ่น ซึ่งวัดความแตกต่างระหว่างผลผลิตจริงกับผลผลิตที่พึงเป็นไปได้จะอยู่ที่ +0.4% ในปีงบประมาณที่เริ่มจะในเดือน เม.ย. โดยช่องว่างผลผลิตที่เป็นบวกหมายความว่า ผลผลิตจริงสูงกว่าระดับเต็มศักยภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง ข้อมูลนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่ BOJ ใช้ในการประเมินว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังขยายตัวแข็งแกร่งเพียงพอที่จะผลักดันให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นตามอุปสงค์หรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าญี่ปุ่นมีแผนใช้งบประมาณที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 735 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปีงบประมาณ 2025 โดยได้รับการสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมและการชำระหนี้
เศรษฐกิจจีน ยอดค้าปลีกในจีนเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ในเดือน พ.ย. สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลปักกิ่งต้องกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ แม้ตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยอดค้าปลีกกลับขยายตัวเพียง 3.0% YoY ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบสามเดือนและต่ำกว่าความคาดหมาย แม้ในกรณีที่มีการประเมินแบบรุนแรงที่สุด ในขณะเดียวกัน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงเติบโตที่ระดับ 5.4% ซึ่งช่วยรักษาโมเมนตัมของเศรษฐกิจโดยรวมได้ และแสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า รัฐบาลจีนได้อนุมัติการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 411,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2025 ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นจากระดับ 1 ล้านล้านหยวนในปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยมาตรการดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงรับมือกับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนโดยสหรัฐฯ เงินทุนจากการออกพันธบัตรนี้จะถูกนำไปใช้ในการกระตุ้นการบริโภคและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยคิดเป็น 2.4% ของ GDP จีนในปี 2023 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลในการประคับประคองเศรษฐกิจและเร่งสร้างสมดุลระหว่างภาคการผลิตและการใช้จ่ายภายในประเทศ
เศรษฐกิจอินเดีย ค่าเงินรูปีอินเดียอ่อนค่าลง 2.5% ในปีนี้ โดยปิดที่ 85.5 ต่อ USD ในเดือน ธ.ค. เนื่องจากการไหลออกของเงินทุนอย่างต่อเนื่องและความคาดหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ทางด้านอัตราเงินเฟ้อลดลงตามคาด มาอยู่ที่ 5.5% ในเดือน พ.ย. ซึ่งกลับมาอยู่ในกรอบที่ RBI สามารถยอมรับได้ สัญญาณนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า RBI อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาสแรกของปี 2025 ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นถึงการชะลอตัวในเศรษฐกิจ โดย GDP ของอินเดียเติบโต 5.4% ในไตรมาสที่ 3 /2024 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้ทั้งรัฐบาลอินเดีย และ RBI ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปีปัจจุบันลงเหลืออยู่ในช่วง 6.6%-6.5% โดยในระยะข้างหน้า นักลงทุนยังคงจับตามอง งบประมาณสหภาพปี 2025-26 ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะลดภาษีรายได้สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านรูปีต่อปี เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยคาดว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะนำเสนอ งบประมาณสหภาพ ในวันที่ 1 ก.พ. 2025
ข้อมูลทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์สำคัญในเดือนที่ผ่านมา
เศรษฐกิจไทย การผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ตัวเลขล่าสุดในเดือน พ.ย ลดลง 3.51% YoY ซึ่งเป็นการลดลงที่มากกว่าในเดือนก่อนหน้าและแย่กว่าที่ตลาดคาด (ลดลง 0.5%) ถือเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ขณะที่ การส่งออกในเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 8.2% YoY ซึ่งชะลอลงจากการเติบโตเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาที่ 14.6% YoY โดยเป็นการเติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ห้า ซึ่งได้รับแรงหนุนจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, อุตสาหกรรมเกษตร และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำหรับ 11 เดือนแรกของปี 2024 การส่งออกเพิ่มขึ้น 5.14% YoY เหนือกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลงที่ -1% YoY
ขณะที่ ในเดือน ธ.ค. กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% อีกด้านคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการอนุมัติ 3 มาตรการ 1. โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 จะแจกเงินให้กับประชาชนอายุมากกว่า 60 ปี 2. Easy E-Receipt อนุญาตให้ผู้ซื้อสามารถขอคืนภาษีสำหรับการใช้จ่ายระหว่างวันที่ 15 ม.ค. ถึง 28 ก.พ. สูงสุด 50,000 บาท 3. มีการอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยรวมเฉลี่ย 2.9% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2025 โดยบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง จะได้รับค่าแรง 400 บาทต่อวัน
ประเด็นที่น่าติดตามในเดือน ม.ค. 2025
วันที่ | ประเทศ | ประเด็นที่น่าติดตาม |
2 ม.ค. | CN | ตัวเลข Caixin Manufacturing PMI เดือน ธ.ค. |
7 ม.ค. | EU | ตัวเลข Inflation Rate เดือน ธ.ค. และ Unemployment Rate เดือน พ.ย. |
8 ม.ค. | JP | ตัวเลข Consumer Confidence เดือน ธ.ค. |
10 ม.ค. | US | ตัวเลข Non-Farm Payrolls เดือน ธ.ค. และ Unemployment Rate เดือน ธ.ค. |
12 ม.ค. | CN | ตัวเลข Inflation Rate เดือน ธ.ค. |
15 ม.ค. | US | ตัวเลข Core Inflation Rate เดือน ธ.ค. |
16 ม.ค. | US | ตัวเลข Retail Sales เดือน ธ.ค. |
17 ม.ค. | CN | ตัวเลข GDP Q4/2024, Industrial Production เดือน ธ.ค. และ Retail Sales เดือน ธ.ค. |
20 ม.ค. | US | การกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรก (Inaugural Address) ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลำดับที่ 47 ของ Donald Trump และการลงนามคำสั่งบริหาร (Executive Orders) ซึ่งจะชี้ ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และแนวทางส าคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคต |
24 ม.ค. | JP | ตัวเลข Inflation Rate เดือน ธ.ค. และการประชุมการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) |
29 ม.ค. | JP | ตัวเลข Consumer Confidence เดือน ม.ค. |
30 ม.ค | US | การประชุมธนาคาการกลางสหรัฐฯ (FED) |
EU | ตัวเลข GDP Growth Rate, Unemployment Rate และ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) | |
31 ม.ค. | CN | ตัวเลข Caixin Manufacturing PMI เดือน ม.ค. |
มุมมองและกลยุทธ์การลงทุน
แนวโน้มตลาด
สำหรับตลาดญี่ปุ่น มองไปข้างหน้า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า Nikkei 225 อาจจะยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากการปฏิรูปของบริษัทที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง, การประเมินมูลค่าที่น่าสนใจ, รวมถึงนโยบายการเงินที่ยังคงสนับสนุนการลงทุน
ทางด้านตลาดอินเดีย ในปี 2025 ดัชนี Nifty น่าจะปรับตัวฟื้นขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของผลประกอบการในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดหุ้นอินเดียและปัจจัยพื้นฐานที่มั่นคงในระยะยาว
กลยุทธ์การลงทุน
พิจารณาใช้กลยุทธ์ "Barbell Strategy" ซึ่งเน้นการกระจายพอร์ตการลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตสูง (Growth) และหุ้นที่เน้นความมั่นคงและปลอดภัย (Defensive) โดยแบ่งสัดส่วน 50% ในหุ้นกลุ่ม Growth เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม และอีก 50% ในหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น Utilities, Consumer Staples และหุ้นกลุ่ม Value การจัดสรรพอร์ตในลักษณะนี้จะช่วยลดความผันผวนและรับมือกับความไม่แน่นอนในตลาดได้ดี ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ความผันผวนในตลาดยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง โดยนักลงทุนควรติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมปรับพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์
คำแนะนำการลงทุน
- เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Growth และ Defensive โดยแนะนำหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง และหุ้นกลุ่ม Consumer Staples ที่จะสามารถรักษามูลค่าและเติบโตได้ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน
- กระจายการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนจากตลาดที่มีศักยภาพเติบโต เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลบวกจากการลดดอกเบี้ย
- การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น และการซื้อหุ้นคืนในตลาดเพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว
- ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจและนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นและกลาง
- LHMEGA กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยกองทุนมุ่งเน้นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการ Disruption ในหลากหลาย Sector รวมถึงค้นหาโอกาสที่กระจายอยู่ทั่วทั้ง Value Chain
- LHDIVB กองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด
- LHSPACE กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น Space Economy มีโอกาสเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
- LHUSFIN กองลงทุนในหุ้นกลุ่ม Financial ในสหรัฐอเมริกา ตลาดใหญ่ของกลุ่มการเงินระดับโลก
- LHGINCOME กองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ รับวัฎจักรดอกเบี้ยขาลง
- LHINDIAE กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นอินเดีย เพื่อแสวงหาการเติบโตจากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต
Source: LHFUND, Bloomberg, Reuters, Trading Economy, FINANCIAL TIMES, bangkokbiznews
Data as of: 2 Jan 2025
เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือ
ได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือ ได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน