LAND AND HOUSES FUND MANAGEMENT CO.,LTD

ข่าวสารและกิจกรรม

กองทุนแนะนำ



EP.3 มาแล้วจ้าา สำหรับ EP.3 นี้ เรามาทำวามรู้จักกับ "ดาวเทียม" กันค่ะ

เมื่อวันที่ 1 ม.ย. 23 เวลาประมาณ 19.55 น. ที่ผ่านมา สำนักงานข่าว TNN รายงานว่า มีผู้พบเห็นแสงประหลาดสีเขียวเคลื่อนที่ผ่านท้องฟ้าบริเวณภาคเหนือ จากการตรวจสอบข้อมูลโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติพบว่าช่วงเวลาดังกล่าว มีดาวเทียมสตาร์ลิงก์ กลุ่ม 6-3 จำนวน 22 ดวง เคลื่อนผ่านท้องฟ้าภาคเหนือของไทย ขณะดาวเทียมเคลื่อนผ่านจะมองเห็นเป็นจุดแสงเหมือนดาวแต่เคลื่อนที่เร็วกว่า อ่อที่แท้คือ "ดาวเทียม" นั่นเอง

ดาวเทียม (Satellites) หมายถึง วัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นเลียนแบบดาวบริวารของดาวเคราะห์ เพื่อให้โคจรรอบโลกหรือรอบเทห์ฟากฟ้าอื่น มีอุปกรณ์สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอวกาศ และถ่ายทอดข้อมูลนั้นมายังโลก วัตถุลักษณะดังกล่าวที่โคจรรอบโลกใช้เป็นอุปกรณ์โทรคมนาคมด้วย เช่น ถ่ายทอดคลื่นวิทยุ และโทรทัศน์ข้ามทวีป เป็นต้น

ประเภทดาวเทียม (Types of satellites) แบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ได้ดังนี้



 
• ดาวเทียมดาราศาสตร์ (Astronomical satellites) เป็นดาวเทียมสำรวจดวงดาวต่างๆ ที่อยู่ห่างไกลโลก สำรวจกาแล็กซี (Galaxy) รวมทั้งสำรวจวัตถุต่างๆ ที่อยู่ในอวกาศ เช่น ดาวเทียม MAGELLAN สำรวจดาวศุกร์ดาวเทียม GALILEO สำรวจดาวพฤหัส เป็นต้น
• ดาวเทียมสื่อสาร (Communications satellites) เป็นดาวเทียมประจำที่ในอวกาศ เพื่อการสื่อสารโดยใช้คลื่นวิทยุในความถี่ไมโครเวฟ ส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า ได้แก่ ดาวเทียม INTELSAT และดาวเทียมไทยคม เป็นต้น
• ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก (Earth observation satellites) เป็นดาวเทียมที่ถูกออกแบบเฉพาะเพื่อการสำรวจ ติดตามทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของโลก รวมทั้งการทำแผนที่ต่างๆ ได้แก่ ดาวเทียมLANDSAT และ THEOS เป็นต้น
• ดาวเทียมนำร่อง (Navigation satellites) เป็นดาวเทียมนำร่องที่ใช้คลื่นวิทยุและรหัสจากดาวเทียมไปยังเครื่องรับสัญญาณบนพื้นผิวโลก สามารถหาตำแหน่งบนพื้นโลกที่ถูกต้องได้ทุกแห่ง และตลอดเวลา ได้แก่ดาวเทียม NAVSTAR และ GALILEO เป็นต้น
• ดาวเทียมจารกรรม (Reconnaissance satellites) เป็นดาวเทียมสำรวจความละเอียดสูง หรือดาวเทียมสื่อสารที่ใช้เพื่อกิจการทางการทหาร การจารกรรม หรือการเตือนภัยจากการโจมตีทางอากาศ ได้แก่ ดาวเทียม KEYHOLE และ LACROSSE เป็นต้น
ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (Meteorological satellites) เป็นดาวเทียมสำรวจเพื่อภารกิจการพยากรณ์อากาศของโลก ได้แก่ ดาวเทียม GMS และ GOES เป็นต้น



วงโคจรของดาวเทียม (Satellite orbit) ดาวเทียมเคลื่อนที่เป็นวงรอบโลก เรียกว่า “วงโคจร” สามารถแบ่ง 2 ประเภทได้ ดังนี้

1. วงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun-synchronous orbit) เป็นวงโคจรในแนวเหนือ-ใต้ และผ่านแนวละติจูดหนึ่งๆ ที่เวลาท้องถิ่นเดียวกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นวงโคจรสำหรับดาวเทียมสำรวจทรัพยากร โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- วงโคจรผ่านขั้วโลก (Polar orbit) เป็นวงโคจรที่มีรูปลักษณะเป็นวงกลมโดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขั้วโลก โคจรที่ระดับความสูง 500-1,000 กิโลเมตร จากพื้นโลก เป็นวงโคจรระดับต่ำ เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 28,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยใช้เวลาในการโคจรเพียง 90 นาที/รอบ อาจกล่าวได้ว่าเป็นวงโคจรลักษณะเดียวที่สามารถให้พื้นที่การบริการครอบคลุมได้ทั่วโลก
- วงโคจรเอียง (Inclined orbit) เป็นวงโคจรที่มีรูปลักษณะเป็นทั้งวงกลมและวงรี เป็นวงโคจรที่มีอยู่จำนวนมากแตกต่างกันไปตามความเอียง (Incline) หรือมุมที่ทำกับระนาบศูนย์สูตร และความรีของวงโคจรว่ามากน้อยเพียงใด โคจรที่ระดับความสูง 5,000-13,000 กิโลเมตร จากพื้นโลกสามารถให้พื้นที่บริการบริเวณละติจูดสูงหรือต่ำมากๆ ได้ หรืออาจครอบคลุมพื้นที่ขั้วโลกได้ด้วย
 
2. วงโคจรระนาบศูนย์สูตร (Equatorial orbit) เป็นวงโคจรในแนวระนาบ มีลักษณะการโคจรเป็นรูปวงกลม โคจรในแนวระนาบกับเส้นศูนย์สูตร ถ้าโคจรที่ระดับความสูง 36,000 กิโลเมตรจากพื้นโลก จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับความเร็วที่โลกหมุนรอบตัวเอง คือ ใช้เวลาในการโคจร 24 ชั่วโมง/รอบ ซึ่งเสมือนว่าตำแหน่งของดาวเทียมคงที่ตลอดเวลา เรียกว่า “วงโคจรค้างฟ้า (Geo-stationary orbit)” และเรียกดาวเทียมที่โคจรในวงโคจรนี้ว่า “ดาวเทียมค้างฟ้า (Geo-stationary satellite)” ส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาและดาวเทียมสื่อสาร เช่น ดาวเทียมไทยคม เป็นต้น 

EP. หน้าจะเป็นเรื่องอะไรนั้นฝากติดตามกันด้วยนะคะ

 
 


 

กรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ