LAND AND HOUSES FUND MANAGEMENT CO.,LTD

ข่าวสารและกิจกรรม

สรุปภาวะตลาด



ทรัมป์เปลี่ยนท่าทีกดดัน Apple–EU หนุน Sentiment ตลาดผันผวน: แนะกลยุทธ์กระจายพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับ iPhone ที่ผลิตนอกสหรัฐฯ เมื่อค่ำวันศุกร์ (ตามเวลาไทย) เพื่อกดดันให้ Apple ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ โดยปัจจุบัน iPhone ยังผลิตในจีน (~85%) และอินเดีย (~15%) ซึ่งการเก็บภาษีใหม่นี้อาจดันต้นทุน iPhone 16 Pro Max เพิ่มขึ้นกว่า 55% และอาจต้องปรับราคาขายจาก 1,199 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ  ส่งผลต่ออุปสงค์ในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนการขายถึง 28% พร้อมกันนี้ ทรัมป์ยังเสนอเก็บภาษี 50% กับสินค้านำเข้าจาก EU โดยเดิมกำหนดมีผล 1 มิ.ย. 2025 ก่อนจะประกาศเลื่อนเป็น 9 ก.ค. 2025 หลังการเจรจากับประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต่อเนื่องจากภาษี 20% ที่เคยประกาศใช้ก่อนปรับลดชั่วคราวเป็น 10% ตั้งแต่ 9 เม.ย.

การตอบสนอง และมุมมองของตลาด
  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์กลับมายกระดับความกังวลด้านการค้าอีกครั้ง โดย S&P 500 ลดลง -0.67% ปิดที่ 5,802 จุด, Dow Jones ลดลง -0.61% และ Nasdaq ลดลง -1.0% การร่วงลงในวันศุกร์ ซ้ำเติมการขาดทุนรายสัปดาห์ของตลาดหุ้น โดยดัชนี S&P 500, Dow และ Nasdaq ต่างปรับลดลงมากกว่า -2% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • ตลาดหุ้นยุโรป ปิดลบในค่ำวันศุกร์ โดยสามารถฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดของวันได้บางส่วน หลังจาก CNBC รายงานว่า ทำเนียบขาวไม่ได้ตีความถ้อยแถลงของทรัมป์เรื่องการเก็บภาษีศุลกากรกับยุโรปว่าเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการ โดยดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดลดลง -0.9% ดัชนี FTSE 100 ของสหราชอาณาจักรลดลง -0.2%, ดัชนี DAX ของเยอรมนี และ CAC 40 ของฝรั่งเศส ลดลง -1.6%
  • ในทางตรงกันข้าม ราคาทองคำเพิ่มขึ้น +2.1% มาอยู่ที่ 3,362.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในวันศุกร์ จากแรงซื้อเพื่อความปลอดภัย (safe-haven flows) หลังทรัมป์กลับมาขู่ใช้นโยบายภาษีอีกครั้ง โดยราคาทองคำปรับขึ้นรวม +5.1% ตลอดสัปดาห์นี้ แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์
  • ด้าน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับขึ้น -2.2bps สู่ระดับ 4.518% จากแรงซื้อในสินทรัพย์ปลอดภัย หลังนักลงทุนเพิ่มความกังวลต่อท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับนโยบายการค้า ส่งผลให้เม็ดเงินบางส่วนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ กดดันให้ยีลด์ปรับลดลง

 แนวโน้มการลงทุนและกลยุทธ์การลงทุน

ตลาดเพิ่งได้รับแรงหนุนเชิงบวกจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจัดขึ้นที่สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงวันที่ 12–13 พ.ค. โดยช่วยหนุนให้ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บรรยากาศโดยรวมกลับพลิกเข้าสู่ภาวะ “ไม่แน่นอน” อีกครั้ง หลังประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อสหภาพยุโรป ด้วยข้อเสนอเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงถึง 50% อีกทั้งยังมีความเคลื่อนไหวด้านนโยบายการคลังของสหรัฐฯเองที่เพิ่มแรงกดดันเพิ่มเติม
โดยล่าสุด สภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ เพิ่งผ่านร่างกฎหมายที่เสนอให้เพิ่มรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 10 ปีข้างหน้า ปัจจัยนี้มีแนวโน้มสร้างแรงกดดันต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร (bond yields) ทั้งนี้ จากบทวิเคราะห์ของ Evercore ISI พบว่า กว่า 90% ของการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นนับตั้งแต่ปลายปี 2022 เกิดขึ้นในช่วงที่ U.S. 10Y Treasury yield ต่ำกว่า 4.5% ซึ่งปัจจุบันอัตราผลตอบแทนดังกล่าวกำลังกลับมาใกล้สูงกว่าระดับดังกล่าว จึงเป็นจุดที่ตลาดต้องจับตาว่าจะกลายเป็นแรงกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือไม่
ดังนั้น ในเชิงกลยุทธ์ เราคงมุมมอง “เป็นกลาง” (Neutral) ต่อการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะสั้น เนื่องจากดัชนี S&P 500 ได้ปรับตัวขึ้นมาระดับสูงพอสมควรแล้ว ขณะที่ปัจจัยหนุนจากข่าวเจรจาการค้าเริ่มถูกสะท้อนในราคาตลาด  โดยในช่วงถัดไป นักลงทุนควรจับตาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อย่างใกล้ชิด เนื่องจากระดับผลตอบแทนที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างสินทรัพย์

1.สำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนหุ้นสหรัฐฯ อยู่

สามารถถือต่อได้ โดยเฉพาะนักลงทุนที่มีมุมมอง ระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ โดยเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลักยังไม่ส่งสัญญาณเชิงลบอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น นักลงทุนสามารถจับจังหวะเพื่อบริหารความเสี่ยงของพอร์ตฟอลิโอ โดยหากดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 5,900-6,200 จุด อาจพิจารณา “Take Profit” บางส่วน เพื่อ Rebalance Port เนื่องด้วยระดับ P/E ปัจจุบันที่ 21 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และสะท้อนความคาดหวังในเชิงบวกไปในระดับหนึ่งแล้ว

2.กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่น หรือไปนอกสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งและแนวโน้มการเติบโตระยะยาวชัดเจน 

กองทุนแนะนำ 

· LHGIGO: กองทุนตราสารหนี้คุณภาพทั่วโลก เพื่อลดการแกว่งตัวของพอร์ตโดยรวมในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน

· LHINDIAE: กองทุนหุ้นอินเดีย เพื่อกระจายการลงทุนออกจากสหรัฐฯ บางส่วน เนื่องจากตลาดอินเดียได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยบวกหลายด้าน ได้แก่ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจและการปฏิรูปโครงสร้าง รวมถึงแนวโน้มการเติบโตของกำไรภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง

Source: CNBC, Jefferies Research, Evercore ISI
LHFund 26  พ.ค. 2025

ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
เนื่องจากกองทุน ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไร
จากอัตราแลกเปลี่ยน/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
ผลการดำเนินงานในอดีต ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต



กรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ