สรุปภาวะตลาด
"อินเดีย vs เวียดนาม โอกาสการลงทุนในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่"
ในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงนี้ คาดว่า โลกของเราจะเต็มไปด้วยความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามอง แต่หากจะพิจารณาหาโอกาสจากการลงทุน ประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับแนวหน้าของโลกอย่าง อินเดีย และ เวียดนาม น่าจะเป็นโอกาสที่โดดเด่นด้วยอัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่แข็งแกร่ง แต่หากจะพิจารณาเปรียบเทียบตลาดหุ้นในกลุ่ม Emerging Markets ทั้งสองของเอเชียนั้น เรามองว่า อินเดีย มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการลงทุน ด้วยปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- ปัจจัยทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานที่มีขนาดใหญ่กว่าและพึ่งพิงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
เติบโตเฉลี่ยปีละ 6.5% เท่ากัน อย่างไรก็ตาม อินเดียโดดเด่นกว่าในแง่ของ ขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกในปัจจุบัน และมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นอันดับ 3 ภายในปี 2030 ขณะที่ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียปัจจุบันใหญ่กว่าเวียดนามถึง 8.25 เท่า
โครงสร้างเศรษฐกิจอินเดีย พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศถึง 60.3% ของ GDP สูงกว่าเวียดนามที่
54.4% สอดรับกับการเติบโตของการบริโภคในอินเดียที่ขยายตัวเฉลี่ย 9.9% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ อินเดียยังมี ประชากรมากที่สุดในโลกกว่า 1.45 พันล้านคน หรือคิดเป็น 14 เท่าของประชากรเวียดนาม และมีอายุเฉลี่ย 28.4 ปี น้อยกว่าเวียดนามที่ 34 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความได้เปรียบเชิงโครงสร้างในด้านกำลังแรงงานที่แข็งแกร่งและศักยภาพการเติบโตในอนาคต
- บทบาทในเวทีโลกของอินเดียผ่านยุทธศาสตร์ ‘การมีแนวร่วมหลายฝ่าย’
อินเดียมีคู่ค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง และ ASEAN และกำลังพัฒนาเป็น ศูนย์กลางการผลิต (Emerging Manufacturing Hub) ที่สำคัญ ด้วยนโยบาย Make in India ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2014 โดยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2018-2023 อินเดียมีค่าเฉลี่ย FDI อยู่ที่ 46,515 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และในปี 2023 อินเดียเป็นอันดับ 15 ของโลกในแง่ของมูลค่า FDI และอันดับ 5 ในจำนวนโครงการที่ได้รับ FDI
ในขณะที่ เวียดนามดึงดูด FDI ด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และการย้ายฐานการผลิตจากจีน อย่างไรก็ตาม FDI ที่ไหลเข้าสู่เวียดนามยังคงต่ำกว่าอินเดีย ซึ่งสะท้อนถึงความได้เปรียบเชิงโครงสร้างของอินเดียในด้านขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าและศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่า
ทิศทางของ ‘อินเดีย’ และ ‘เวียดนาม’ ในระยะข้างหน้า
แม้ว่าการคาดการณ์การเติบโตของ GDP อินเดีย ในปี 2025 ของ Bloomberg Consensus จะขยายตัวที่
6.8% ชะลอลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเป็นอัตราที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น รวมถึงสูงกว่าเวียดนาม ที่มีการคาดการณ์ว่าจะโตที่ 6.5% นอกจากนี้ อินเดียยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นอย่าง อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง วงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และการดำเนินโยบายการคลังที่เข้มงวดขึ้น ปัจจัยเหล่านี้น่าจะสะท้อนถึงการที่อินเดียมุ่งเน้นสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
สำหรับ เวียดนาม เศรษฐกิจยังคงได้รับแรงสนับสนุนจาก บทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลก การขยายตัวของ
การบริโภคภายในประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุน และกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ต้องจับตามอง ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งอาจส่งผลต่อความเสี่ยงของเวียดนามในฐานะประเทศที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ ปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังคงเป็นจุดเปราะบางที่อาจสร้างแรงกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ภาพรวมตลาดทุน ‘อินเดีย vs เวียดนาม’
ตลาดหุ้นอินเดีย ถือเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และมีน้ำหนักใน MSCI Emerging Market Index สูงเป็นอันดับ 2 คิดเป็น 18.84% ทั้งนี้ ตลาดยังมีศักยภาพเติบโตอีกมาก เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนในหุ้นของครัวเรือนอยู่ที่เพียง 5.8% ของสินทรัพย์ทั้งหมด นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังสนับสนุนการออมระยะยาวผ่านกองทุน SIPs(Systematic Investment Plans) ซึ่งจะช่วยเสริมความเสถียรภาพของตลาดในระยะยาว ขณะที่ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าตลาดมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของกำไรบริษัทที่สอดคล้องกับการเติบโตของ GDP สะท้อนถึงโอกาสการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว
ขณะที่ ตลาดหุ้นเวียดนาม มีบทบาทสำคัญใน ดัชนี MSCI Frontier โดยครองสัดส่วนสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ที่ 25%และถูกจับตามองในฐานะตลาดที่มีศักยภาพในการอัพเกรดเข้าสู่ดัชนี MSCI Emerging Market (EM) ในอนาคต แม้การเลื่อนสถานะดังกล่าวจะส่งผลบวกต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นเวียดนาม แต่ในดัชนี EM สัดส่วนของตลาดหุ้นเวียดนามจะลดลงเหลือเพียง 0.4% ปัจจุบัน ตลาดหุ้นเวียดนามยังขับเคลื่อนโดย นักลงทุนรายย่อย ซึ่งมีส่วนร่วมในปริมาณการซื้อขายมากกว่า 80% ของตลาด ส่งผลให้ตลาดยังมีความผันผวนสูง
หุ้นอินเดียดี แต่แพงเกินไปไหม
ปัจจุบัน Forward P/E ของดัชนี Nifty อยู่ที่ประมาณ 20 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปี (+1SD) แต่ยัง
ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 5 ปี สะท้อนถึงระดับการประเมินมูลค่าที่ตลาดยอมรับได้ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน Forward ROE ของตลาดอยู่ที่ 16.4% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 13.8% บ่งชี้ถึงความสามารถของบริษัทในตลาดหุ้นอินเดียในการสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาเชิงโครงสร้างของบริษัทจดทะเบียนในตลาด ดังนั้น แม้ระดับราคาของหุ้นอินเดียจะดูสูงเมื่อเทียบกับอดีต แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ที่แข็งแกร่งและแนวโน้มการเติบโตของกำไร ยังคงเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญสำหรับการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นอินเดีย
ข้อเสนอแนะการลงทุน
ตลาดหุ้นอินเดียปรับฐานในช่วงที่ผ่านมา โดยเกิดจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติและการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยดัชนีมีการปรับตัวลงมาทดสอบ เส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน ที่จุด 23,651.38 โดยลดลงประมาณ 10% ปัจจุบัน ณ วันที่ 4 ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 24,461.25 จุด นับว่าเป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับการทยอยเข้าลงทุน
โดยเรามองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นโอกาสในการ ทยอยเพิ่มการลงทุนในกองทุน LHINDIA ซึ่งเป็นกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย โดยมีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีที่ 16.82%
กลยุทธ์การลงทุน
- ทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน LHINDIA
- รอความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาด ก่อนเพิ่มการลงทุนเพิ่มเติม
โดยเราแนะนำให้การลงทุนในอินเดียเป็น 5-10% ของ Portfolio
Source: IMF, LGT, Unctad, UN, MSCI, Bloomberg, Invesco
ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน