LAND AND HOUSES FUND MANAGEMENT CO.,LTD

ข่าวสารและกิจกรรม

สรุปภาวะตลาด



สรุปภาพรวมการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา 

ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกมีสภาวะที่ผสมผสาน มีทั้งตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและลดลง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ -0.06%, ดัชนี Dow Jones ลดลง -1.80% ในยขณะที่ ดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น +0.59% ตลาดหุ้นอื่น ๆ หลายแห่งปรับตัวลง เช่น ยุโรป จีน อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง -2.97%, ดัชนี Hang Seng -9.47%, ดัชนี Nifty 50 -6.17%, ดัชนี VN30 -1.49% และดัชนี JKSE –0.89%  ในทางตรงกันข้าม ตลาดหุ้นในญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยดัชนี Nikkei 225 เพิ่มขึ้น +1.11%, ดัชนี TWSE เพิ่มขึ้น + 1.92% และดัชนี SET เพิ่มขึ้น +0.09%

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ในเดือน ต.ค. 2024 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น โดยดัชนีสำคัญต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลักๆ เนื่องมาจากการความคลายกังวลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ภายหลังที่ Fed ได้ลดดอกเบี้ยเป็น 50 bps เมื่อราวกลางเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมาฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขการค้าปลีกเดือน ก.ย. ที่ดีกว่าคาด และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ผลักดันให้ Bond Yield อายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 4%  พร้อม ๆ กับดัชนี S&P 500 ที่ปรับตัวขึ้นพร้อมกันตลอดเดือน ต.ค. อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. ตลาดมีการปรับฐานลงเนื่องจากเป็นช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เช่น Microsoft และ Meta ได้ส่งผลกดดันต่อตลาด เนื่องจากแม้ผลกำไรจะออกมาดีกว่าที่คาด แต่ Guidance ที่ระบุถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนา AI สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน ส่งผลให้ตลาดปรับตัวลดลงอย่างหนักในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม ซึ่งนับเป็นการปรับตัวติดลบที่แรงที่สุดในรอบ 2 เดือน

ตลาดหุ้นประเทศอื่น (ยุโรป, ญี่ปุ่น, จีน, อินเดีย, และอื่นๆถ้ามี)

ตลาดหุ้นยุโรป อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้ มาอยู่ที่ 2% เมื่อพิจารณาตลอดทั้งเดือนต.ค. ดัชนี Stoxx 50 และ Stoxx 600 ปรับตัวลดลงจากแรงกดดันของ Sentiment เชิงลบ จากภาวะสงครามในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ และผลประกอบการไตรมาส 3 ที่อ่อนแอกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่ ECB มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps ซึ่งถือเป็นการปรับลดติดต่อกันครั้งแรกในรอบ 13 ปี ซึ่งช่วยลดความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอได้บางส่วน

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เติบโตโดดเด่นในภูมิภาค โดยมีแนวโน้มเชิงบวกหลังการเลือกตั้งในช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) จะไม่สามารถรักษาที่นั่งมากพอที่จะครองเสียงข้างมากในสภาได้ ส่งผลให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งกดดันให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงถึง 7.5% ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) แต่ผลที่ตามมากลับเป็นแรงหนุนให้ดัชนี Nikkei 225 และ Topix ฟื้นตัวจากการขาดทุนในสัปดาห์ก่อนหน้าได้ทั้งหมด เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับหุ้นกลุ่มส่งออกและเทคโนโลยีที่ได้รับประโยชน์ โดยภาวะการเมืองที่ไม่แน่นอนนี้ยังส่งผลต่อการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งเกิดขึ้นหลังวันเลือกตั้งเพียง 4 วัน โดย BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมต่อไป จนกว่าจะมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล

ตลาดหุ้นจีน ในเดือน ต.ค. ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก หลังจากที่เคยปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นในเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการขาดรายละเอียดและความคืบหน้าในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านนโยบายการคลังที่ตลาดคาดหวังว่าจะได้เห็นตัวเลขงบประมาณที่ชัดเจน แต่กลับผิดหวังจากความไม่ชัดเจนของนโยบายจากหน่วยงานต่างๆ ที่สลับกันออกมาแถลงข่าวตลอดเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ดัชนี Caixin China General Manufacturing PMI ในเดือน ต.ค.2024  ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50.3 สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และสูงสุดในรอบสี่เดือน สะท้อนถึงการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิตหลังจากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งแรก ในช่วงปลายเดือน ก.ย. ดังกล่าว ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า ยังคงต้องจับตาการประชุม NPC ระหว่างวันที่ 4-8 พ.ย. นี้ ที่มีรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า อาจจะมีการประกาศนโยบายการคลังมูลค่า 10 ล้านล้านหยวน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ


ตลาดหุ้นอินเดีย ในเดือน ต.ค. Nifty 50 ลดลง 6.17%  ซึ่งนับเป็นการลดลงรายเดือนที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2020 โดยได้รับปัจจัยกดดันมาจากความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของกำไรที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 3  แรงขายต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติ (FPI) เนื่องจาก ความกังวลของมูลค่าตลาดที่สูง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ปัจจัยเหล่านี้รวมกันส่งผลให้หุ้นอินเดียอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก

ตลาดหุ้นไทย ในเดือน ต.ค. ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน โดยดัชนี SET เคลื่อนไหวในช่วง 1,432.22 ถึง 1,506.82 จุด ก่อนปิดสิ้นเดือนที่ 1,466.04 จุด เพิ่มขึ้น +0.09% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า การเคลื่อนไหวในช่วงต้นเดือนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากเงินทุนจากกองทุนวายุภักษ์ไหลเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่ ส่งผลให้ตลาดได้รับการสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ซึ่งถือเป็นการปรับลดที่สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน เกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่คาดการณ์ใหม่ว่าจะขยายตัวถึง 2.7% ในปีนี้อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความกังวล การเงินของสหรัฐฯ ในอนาคต นอกจากนี้ ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงในตะวันออกกลาง และยุโรปยังคงสร้างแรงกดดันให้ตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดปิดในระดับใกล้เคียงกับ 1,460 จุด แม้จะมีการเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนก็ตาม

สินทรัพย์อื่นๆ

ตราสารหนี้ ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกในเดือน ต.ค. ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกเผชิญกับความผันผวน โดยเฉพาะ ตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ เผชิญกับภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยแตะระดับสูงกว่า 4.3% ในวันที่ 29 ต.ค. ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากความกังวลของตลาดที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่า Fed จะมีแผนลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 2 ครั้งในปีนี้ แต่นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตตลาด ตราสารหนี้ในประเทศไทย ปรับตัวลงเล็กน้อย โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.44% ณ วันที่ 31 ต.ค. ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 4 bps  โดยนักลงทุนต่างชาติมีขายสุทธิ 33,447 ลบ.  เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาส่งสัญญาญลดความเป็นไปได้ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม  ทองคำ ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาดโลกทำ All-time high โดยเพิ่มขึ้น 4.2% มีปัจจัยหลักที่ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมาถึง และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นมาจากนักลงทุนที่มองหาสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อันเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น

ข้อมูลทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์สำคัญในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจสหรัฐฯ GDP ของสหรัฐฯ ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้น 2.8% YoY  ในไตรมาสที่ 3 เทียบกับการคาดการณ์ที่ 2.9% แต่การบริโภคยังคงแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้น 3.7% (ดีกว่าที่คาดไว้ ที่ 3.3%) ตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ (core PCE deflator) เพิ่มขึ้น 2.2% ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้เล็กน้อยที่ 2.1% ขณะที่ ดัชนี PMI ดีกว่าคาด โดยดัชนีภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 0.5 จุดเป็น 47.8 ในเดือน ต.ค.  ขณะที่ ดัชนีภาคบริการเพิ่มขึ้น 0.1 จุดเป็น 55.3 ซึ่งดีกว่าคาดว่าจะลดลง 0.2 ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 1.2 หมื่นตำแหน่ง ต่ำกว่า 1.0 แสนตำแหน่งตามที่ตลาดคาดเป็นอย่างมาก โดยได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนเฮลีนและมิลตันที่พัดถล่มสหรัฐ รวมทั้งการผลจากการประท้วงของพนักงานบริษัทโบอิ้ง อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานยังคงอยู่ที่ 4.1% ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า นักลงทุนยังคงติดตามปัจจัยสำคัญอย่างใกล้ชิด ทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. และการประชุม FOMC ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์เดียวกัน

เศรษฐกิจยูโรโซน GDP ของยูโรโซนในไตรมาส 3 เติบโตเพียง 0.9% YoY ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐฯ ที่เติบโตถึง 2.8% ดัชนี PMI ของยูโรโซนออกมาผสมกัน ด้านการผลิตดีเกินคาด โดยเพิ่มขึ้น 0.9 จุดเป็น 45.9 ในเดือน ต.ค. (คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1 จุด) ขณะที่ ภาคบริการต่ำกว่าคาด ลดลง 0.2 จุดเป็น 51.2 (คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1 จุด) สะท้อนถึงการเติบโตที่ยังคงจะชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 หลังจากแนวโน้มที่อ่อนแอในไตรมาสที่ 3 ขณะที่ ECB ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ตามที่คาดไว้ ส่งผลให้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมามี การปรับลดรวมทั้งสิ้น 0.75%

เศรษฐกิจจีน GDP ของจีนในไตรมาส 3 เติบโต 4.6% YoY  สูงกว่าคาดการณ์ที่ 4.5% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากแรงจูงใจทางการเงินในเดือน ก.ย. ที่ช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่า อาจมีโอกาสเติบโตสูงต่อเนื่อง หากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุม NPC ระหว่างวันที่ 4-8 พ.ย. นี้

เศรษฐกิจไทย การส่งออกในเดือน ก.ย. ขยายตัว 1.1% YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.0% YoY  ทางด้าน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ลงมติอย่างเหนือความคาดหมายให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 0.61% YoY ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เนื่องจากราคาพลังงานยังคงกดดัน ขณะที่ ราคาอาหารสดยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น


ประเด็นที่น่าติดตามในเดือน พ.ย. 2024

1. US: Fed Interest Rate Decision (8 พ.ย. 2024)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 111 คนของรอยเตอร์ ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหลืออยู่ในช่วง 4.50-4.75%
 
2. US: Initial Jobless Claims (7 พ.ย. 2024)
ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (Initial Jobless Claims) คาดการณ์ที่ 221,000 ราย (จากครั้งก่อนหน้าที่ 216,000 ราย) หากตัวเลขอยู่ในระดับที่ต่ำแสดงว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจและส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้น
 
3. IN: CPI (12 พ.ย. 2024)
เป็นตัวเลขที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดหลังจากที่ CPI อินเดีย ได้กลับมาพุ่งสูงถึง 5.49% ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา (สูงสุดในรอบ 9 เดือน) ส่งผลให้ธนาคารอินเดียออกมาส่งสัญญาณปรับท่าทีใหม่เป็นการระมัดระวังในการพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย จากที่เคยได้ส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. นี้
 
4. US: Core CPI (13 พ.ย. 2024)
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ต.ค. ตัวเลขนี้เป็นสิ่งที่ตลาดจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อที่ Fed ใช้พิจารณาในการตัดสินใจทางนโยบายของ Fed
 
5. CN: Unemployment Rate (15 พ.ย. 2024)
เดือน ก.ย. อัตราการว่างงานของจีนอยู่ที่ 5.1% ซึ่งควรจับตาดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตัวเลขนี้สะท้อนทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่พยายามแก้ไขปัญหาภาคเอกชนซึ่งกำลังเผชิญกับความยากลำบากและส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว
 
6. CN: Retail Sales (15 พ.ย. 2024)
เดือน ก.ย. Retail Sales อยู่ที่ 3.2% โดยตัวเลขในเดือน ต.ค. ที่จะประกาศนี้จะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคว่ามีทิศทางเช่นไร หลังจากที่รัฐบาลประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
 
7. TH: GDP Growth Rate YoY Q3 (20 พ.ย. 2024)
โดยคาดการณ์ว่า GDP Q3/2024 ของไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 2.7% YoY ไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ 2.3% โดยมีปัจจัยจากแรงหนุนบริโภคเอกชน การท่องเที่ยว และการลงทุนโตต่อเนื่อง
 
8. IN: GDP Growth Rate YoY Q3 (29 พ.ย. 2024)
โดยคาดการณ์ว่า GDP Q3/2024 ของอินเดียจะขยายตัวที่ 6.8% YoY เติบโตขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ 6.7% 

มุมมองและกลยุทธ์การลงทุน 

แนวโน้มตลาด 

ในเดือน พ.ย. ของทุกปี ตามสถิติที่ผ่านมาจะเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นจะมีผลตอบแทนที่ดี รวมไปถึงหลังการเลือกตั้ง สหรัฐฯ ตลาดมักปรับตัวขึ้นเนื่องจากนโยบายต่าง ๆ ที่จะมีความชัดเจน และการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐ อย่างไรก็ดี ในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ตลาดอาจเผชิญความผันผวน จากการที่นักลงทุนกำลังจับตาดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี หลังวันที่ 5 พ.ย. ซึ่งในช่วงสัปดาห์เดียวกันนั้น จะมีการประชุมของ Fed ที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกครั้ง
 
ในมุมมองของตลาดเริ่มเห็นภาพเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ "Soft Landing" ได้อย่างชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าตลาดหุ้นจะสามารถไปต่อได้ โดยหุ้นขนาดเล็กและกลุ่มหุ้นที่ไม่ได้เป็นกลุ่ม Big Tech จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นและนำตลาดไปในทิศทางบวก อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องติดตามผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากความแตกต่างทางนโยบายของทั้งสองพรรคที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการลงทุนต่าง ๆ ในแต่ละ Sector อย่างมีนัยสำคัญ
 
โดยเรามองว่าหาก ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง Sector ที่ได้รับอานิสงส์หลักๆ ได้แก่ Banking and Financial จากนโยบาย Deregulation, Energy เช่น น้ำมันและก๊าซ จากนโยบายการผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และ Industrial จากนโยบายการลดภาษีของทรัมป์ ขณะที่ การมาของ แฮร์ริส ในฐานะประธานาธิบดี จะส่งผลให้ภาคธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ ภาคพลังงานหมุนเวียน อาทิ  รถยนต์ EV และ Renewable Energy และโครงสร้างพื้นฐาน

กลยุทธ์การลงทุน

พิจารณาใช้กลยุทธ์ "Barbell Strategy" ซึ่งเน้นการกระจายพอร์ตการลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตสูง (Growth) และหุ้นที่เน้นความมั่นคงและปลอดภัย (Defensive) โดยแบ่งสัดส่วน 50% ในหุ้นกลุ่ม Growth เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม และอีก 50% ในหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น Utilities, Consumer Staples และหุ้นกลุ่ม Value การจัดสรรพอร์ตในลักษณะนี้จะช่วยลดความผันผวนและรับมือกับความไม่แน่นอนในตลาดได้ดี
 
แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ความผันผวนในตลาดยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง โดยนักลงทุนควรติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมปรับพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์


คำแนะนำการลงทุน
  • เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive และ Growth: หุ้นในกลุ่ม, Consumer Staples และเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งจะสามารถรักษามูลค่าและเติบโตได้ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน
  • กระจายการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก: เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนจากตลาดที่มีศักยภาพเติบโต เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลบวกจากการลดดอกเบี้ย
  • พิจารณาลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูง: เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ตราสารหนี้คุณภาพสูงทั่วโลกเป็นทางเลือกที่ดีในการรับผลตอบแทนมั่นคงและกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน
  • การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหหุ้นที่มีอัตราการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้น และการซื้อหุ้นคืนในตลาดเพื่อช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว
  • ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจและนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด: เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นและกลาง
กองทุนแนะนำประจำเดือน พ.ย. 2024
  • LHGEQ: กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการลดดอกเบี้ยของ Fed
  • LHGINCOME: กองทุนตราสารหนี้คุณภาพสูงที่เน้นการลงทุนทั่วโลก ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยงและได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง
  • LHDIVB: กองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด
  • LHSPACE: กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น Space Economy มีโอกาสเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

Source: LHFUND, Trading Economy, investing.com
Data as of: 4 Nov 2024









  

 



 



 







 

กรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ