LAND AND HOUSES FUND MANAGEMENT CO.,LTD

ข่าวสารและกิจกรรม

สรุปภาวะตลาด



สรุปภาพรวมการลงทุนในเดือนที่ผ่านมา 

ในเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกมีความเคลื่อนไหวที่หลากหลาย โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่น S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางนโยบายการเงิน การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อ และความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน มีการปรับตัวชะลอลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ไทย และฟิลิปปินส์ มีการปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.02%, ดัชนี Nasdaq +2.68%, ดัชนี Dow Jones +1.85%, ดัชนี Stoxx Europe 600 -0.39%, ดัชนี Nikkei 225 -0.30%, ดัชนี Hang Seng +19.45%, และดัชนี CSI 300 +23.06%

 
  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ในเดือนกันยายน 2024 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แสดงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างโดดเด่น โดยดัชนีสำคัญต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก 50 bps ซึ่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาด การตัดสินใจนี้มีพื้นฐานมาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ยังคงชี้ไปทาง Soft landing โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงแข็งแกร่ง และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน (jobless claims) ที่ยังไม่สูงจนตลาดเกิดความตื่นตระหนก นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่ Fed คลายความกังวล ส่งผลให้ตลาดหุ้นยังคงมีแนวโน้มที่เป็นบวก โดยหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการที่ดีของบริษัท Micron Technology ซึ่งช่วยกระตุ้นราคาหุ้นในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ในขณะที่หุ้นขนาดใหญ่อย่าง Apple, Microsoft, Amazon และ Alphabet ก็มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีความผันผวนในหุ้นบางตัว เช่น Nvidia และ Eli Lilly
 
  • ตลาดหุ้นประเทศอื่น (ยุโรป, ญี่ปุ่น, จีน, อินเดีย, และอื่นๆถ้ามี)
ตลาดหุ้นในภูมิภาคต่างๆ นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวที่หลากหลายโดย ตลาดหุ้นยุโรป ชะลอตัวเล็กน้อยจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ เช่น ตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ รวมถึงดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงอ่อนแอ และการชะลอตัวในภาคการบริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันตลาด

ขณะที่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีการชะลอตัวเล็กน้อยเช่นกัน แต่ในช่วงปลายเดือนตลาดเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่แสดงท่าทีค่อนข้าง "Hawkish" โดยอาจมีการพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกและผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น

สำหรับตลาดหุ้นจีนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น โดยได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยประกาศมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน การใช้นโยบายการคลัง รวมถึงมาตรการที่สนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดทุนโดยตรง ทั้งนี้ มาตรการโดยรวมถือว่าเหนือความคาดหมายและช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นที่จำเป็นต่อตลาด และแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจีนมุ่งมั่นที่จะบรรลุการขยายตัวของ GDP ในปีนี้ที่ 5% ให้สำเร็จได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าว น่าจะเข้ามาช่วยหนุน sentiment การลงทุนได้ในระยะ 2-3 เดือนนี้

ทางด้านตลาดหุ้นอินเดียก็ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หลักๆ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคเทคโนโลยีและบริการ รวมถึงการลงทุนจากต่างประเทศ ประกอบกับแรงส่งของ Demand หุ้นในประเทศที่แข็งแกร่งซี่งสนับสนุนการเติบโตของตลาดหุ้นอินเดีย


 
  • ตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยในเดือนกันยายน 2024 แสดงการฟื้นตัวที่น่าประทับใจ โดยดัชนี SET50 ขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือน ปัจจัยบวกที่สำคัญมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลใหม่ที่ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเน้นการลงทุนภาครัฐและการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเพิ่มแรงซื้อในตลาดหุ้นไทย รวมถึง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนผ่านโครงการกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ ได้ช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากนี้ และการลดอัตราดอกเบี้ย Fed ซึ่งส่งผลต่อการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาทเป็นปัจจัยสนับสนุน FUND FLOW ไหลเข้า SET

 
  • ตลาดตราสารหนี้
ตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกในเดือนกันยายน 2024 เผชิญกับความผันผวน โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.78% การปรับตัวครั้งนี้เป็นผลจากนักลงทุนที่ปรับความคาดหวังเกี่ยวกับการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยปัจจุบันโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ประมาณ 40% ลดลงจากระดับมากกว่า 50% ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้า
 
ตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.50% ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2024 ขณะที่นักลงทุนจับตามองความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก


ข้อมูลทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์สำคัญในเดือนที่ผ่านมา 

ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ คงตัวใกล้ระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตั้งไว้ ซึ่งนักลงทุนคาดหวังว่า Fed อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้ ความคาดหวังนี้ได้ส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ตอบสนองดีจากแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงิน
 
ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูง ซึ่งทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวในลักษณะ "Soft landing" กล่าวคือ เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างช้าๆ โดยไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง การฟื้นตัวเช่นนี้ส่งผลดีต่อตลาดหุ้น โดยทำให้นักลงทุนรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง
สำหรับการประชุม Fed ในเดือนกันยายน มีการส่งสัญญาณชัดเจนจากคณะกรรมการว่า Fed จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นและสร้างแรงซื้อในตลาดตราสารหนี้
 
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่นักลงทุนจับตาคือการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในการโต้วาทีครั้งล่าสุด Kamala Harris ดูเหมือนจะได้รับชัยชนะเหนือคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจคะแนนยังคงแสดงถึงการแข่งขันที่สูสี ทำให้ตลาดยังไม่ตอบสนองเชิงลบหรือบวกต่อเหตุการณ์นี้อย่างชัดเจน การเคลื่อนไหวของตลาดยังคงอยู่ในกรอบที่ต้องติดตามต่อไปเมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้ง

ประเด็นที่น่าติดตามในเดือน ต.ค. 2024 

1. ISM Manufacturing PMI (1 ตุลาคม 2024)
ดัชนี ISM Manufacturing PMI เดือนกันยายนคาดการณ์อยู่ที่ 47.6 จุด ซึ่งแสดงถึงการหดตัวในภาคการผลิต หากดัชนีต่ำกว่าค่ากลาง 50 จุด เป็นสัญญาณว่าภาคการผลิตในสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
 
2. JOLTs Job Openings (1 ตุลาคม 2024)
ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน (JOLTs) สำหรับเดือนสิงหาคม คาดการณ์ที่ 7.640 ล้านตำแหน่ง ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวชี้วัดที่ดีต่อความต้องการแรงงานในตลาด หากตัวเลขยังคงสูง จะเป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง
 
3. ADP Nonfarm Employment Change (2 ตุลาคม 2024)
การเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานนอกภาคการเกษตรโดย ADP สำหรับเดือนกันยายน คาดการณ์ไว้ที่ 124,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการติดตามภาวะการจ้างงาน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากตัวเลขออกมาต่ำกว่าคาด อาจทำให้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว
 
4. Initial Jobless Claims (3 ตุลาคม 2024)
ตัวเลขการขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (Initial Jobless Claims) คาดการณ์ที่ 221,000 ราย หากตัวเลขอยู่ในระดับที่ต่ำแสดงว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจและส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้น
 
5. Nonfarm Payrolls (4 ตุลาคม 2024)
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือนกันยายน คาดการณ์อยู่ที่ 144,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการติดตามสถานะของตลาดแรงงาน หากตัวเลขออกมาดี จะช่วยสนับสนุนมุมมองว่าตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง
 
6. Core CPI (10 ตุลาคม 2024)
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนกันยายน คาดการณ์อยู่ที่ 0.3% แบบรายเดือน (MoM) ตัวเลขนี้เป็นสิ่งที่ตลาดจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อที่ Fed ใช้พิจารณาในการตัดสินใจทางนโยบาย หากตัวเลขออกมาสูงเกินคาด อาจส่งผลให้ Fed ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
 
7. การประชุม กนง. (16 ตุลาคม 2024)
จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2567 ว่ากนง. จะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลงหรือไม่ โดยล่าสุดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาส่งสัญญาว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจจะยังไม่ลดในเดือน ต.ค. นี้ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในเดือน พ.ย. และแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ในเดือน พ.ย.นี้ ที่อาจจะส่งผลต่อแนวทางการตัดสินใจของ กนง. ที่จะมีขึ้นในการประชุมครั้งหน้าในเดือน ธ.ค.

มุมมองและกลยุทธ์การลงทุน 

 
  • แนวโน้มตลาด
ในเดือนตุลาคม 2024 ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงมีความผันผวนสูง เนื่องจากดัชนีหลายแห่งแตะระดับจุดสูงสุดใหม่ (All-Time High) และ Valuation ในหลายกลุ่มเริ่มตึงตัว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ที่นักลงทุนกำลังจับตาดูทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 25 bps ในเดือนพฤศจิกายน หากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ เช่น การจ้างงาน (Nonfarm Payrolls), PMI ภาคการผลิต และดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังคงเป็นไปตามคาดการณ์
 
ในมุมมองของตลาด หาก Fed สามารถทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ "Soft Landing" ได้สำเร็จ ตลาดหุ้นจะสามารถไปต่อได้ โดยหุ้นขนาดเล็กและกลุ่มหุ้นที่ไม่ได้เป็นกลุ่ม Big Tech จะมีโอกาสปรับตัวขึ้นและนำตลาดไปในทิศทางบวก อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับฐาน (Correction) เนื่องจากตัวชี้วัดความผันผวน (VIX) มักปรับตัวสูงขึ้นในเดือนตุลาคม โดยเฉพาะในช่วงที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดมักมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น
 
ปัจจุบันตลาดอยู่ในโซน "Greed" หรือความต้องการซื้อสูง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่นักลงทุนควรระมัดระวัง เนื่องจากตลาดมีโอกาสปรับฐานในระยะสั้น แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยและการคาดการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในทิศทางบวก แต่การเติบโตของรายได้ในวงกว้างและการหมุนเวียนของเงินลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Big Tech จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดในระยะต่อไป
  • กลยุทธ์การลงทุน
พิจารณาใช้กลยุทธ์ "Barbell Strategy" ซึ่งเน้นการกระจายพอร์ตการลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโตสูง (Growth) และหุ้นที่เน้นความมั่นคงและปลอดภัย (Defensive) โดยแบ่งสัดส่วน 50% ในหุ้นกลุ่ม Growth เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม และอีก 50% ในหุ้นกลุ่ม Defensive เช่น Healthcare, Utilities, Consumer Staples และหุ้นกลุ่ม Value การจัดสรรพอร์ตในลักษณะนี้จะช่วยลดความผันผวนและรับมือกับความไม่แน่นอนในตลาดได้ดี
 
แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ความผันผวนในตลาดยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง โดยนักลงทุนควรติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมปรับพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์



คำแนะนำการลงทุน
  • เน้นการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive และ Growth: หุ้นในกลุ่ม Healthcare, Consumer Staples และเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งจะสามารถรักษามูลค่าและเติบโตได้ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน
  • กระจายการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก: เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนจากตลาดที่มีศักยภาพเติบโต เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลบวกจากการลดดอกเบี้ย
  • พิจารณาลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูง: เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ตราสารหนี้คุณภาพสูงทั่วโลกเป็นทางเลือกที่ดีในการรับผลตอบแทนมั่นคงและกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน
  • ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจและนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด: เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะสั้นและกลาง
  • การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหุ้นไทย อินเดีย และเวียดนาม ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้าจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการบริโภค
กองทุนแนะนำประจำเดือน ต.ค. 2024
  • LHGEQ: กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นทั่วโลก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการลดดอกเบี้ยของ Fed
  • LHHEALTH: กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มสุขภาพทั่วโลก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการต่อเนื่องและมีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น
  • LHDIVB: กองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายปันผลสูง เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด
  • LHGINCOME: กองทุนตราสารหนี้คุณภาพสูงที่เน้นการลงทุนทั่วโลก ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยงและได้รับผลตอบแทนที่มั่นคงในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง


Source: LHFUND
Data as of: 2 Oct 2024









  

 



 



 









 

กรอกข้อมูลเพื่อให้เราติดต่อกลับ